กู้ซื้อบ้าน
กู้ซื้อบ้าน ต้องเตรียมอะไรบ้าง
กู้ซื้อบ้าน การกู้ซื้อบ้านหรือการขอสินเชื่อเพื่อบ้านกับธนาคาร เป็นการกู้เงินระยะยาวกับธนาคารที่ต้องใช้เวลาผ่อนเป็นเวลาหลายปี ซึ่งก่อนที่คุณจะตัดสินใจกู้ จะต้องเตรียมตัวและตัวข้อมูลต่างๆ ให้ครบรอบด้าน เพื่อให้คุณได้เป็นเจ้าของบ้านในฝันพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่หนักหนาจนเกินไป
เลือกซื้อบ้านให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตตอนที่จะไปถึงเรื่องการเตรียมตัวกู้ซื้อบ้าน มาดูวิธีการเลือกซื้อบ้านที่ตอบโจทย์ เพื่อให้คุณสามารถกำหนดงบประมาณในการซื้อบ้านที่เหมาะสมกับรายได้ของคุณโดยการเลือกซื้อบ้านที่ตอบโจทย์ นอกจากการมองเรื่องความสวยงามและน่าอยู่เแล้ว บ้านที่จะซื้อยังต้องตอบความต้องการของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ทั้งความสะดวกสบาย การเดินทาง ความปลอดภัย และงบประมาณด้วย
3 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกซื้อบ้านที่ตอบโจทย์
1. ประเภทของบ้านที่ตอบลักษณะการใช้ชีวิต
การเลือกประเภทของบ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณสามารถกำหนดงบประมาณในการซื้อบ้านได้ เพราะที่อยู่อาศัยแต่ะละประเภทต่างก็มีราคาที่สูงต่ำแตกต่างกันไปตามรูปแบบ ขนาด และทำเลที่ตั้ง
เช่น ชอบใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เดินทางสะดวกด้วยขนส่งสาธารณะ และไม่อยากเร่งรีบในการเดินทางไปมากนัก การเลือกที่อยู่อาศัยเป็นคอนโดมิเนียมก็จะตอบโจทย์
หรือถ้าชอบที่อยู่อาศัยที่ได้พื้นที่เยอะ มีหลายห้องนอน หลายห้องน้ำ เหมาะสำหรับครอบครัว แต่อาจจะอยู่ห่างจากตัวเมืองออกมา การเลือกที่อยู่อาศัยเป็นบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรก็อาจจะตอบโจทย์มากกว่า
2. ทำเลที่ตั้งของบ้านที่ต้องการซื้อ
โดยเทคนิคการเลือกทำเลซื้อบ้านที่เหมาะสม สามารถทำได้ดังนี้
- ความสะดวกในการเดินทาง ดูว่าการเดินทางเข้าไปยังโครงการบ้านหรือที่อยู่อาศัยแห่งนั้น สามารถเดินทางได้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง ถ้าหากว่าคุณเองไม่มีรถยนต์ส่วนตัว จะสามารถเดินทางด้วยขนส่งสารธารณะที่ใกล้ที่สุดอย่างไร และต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ในการเดินทางในแต่ละวัน รวมถึงระยะเวลาในการเดินทางด้วย
- สิ่งอำนวยความสะดวก ดูว่ามีตลาดสด ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ อยู่ใกล้กับบ้านที่จะซื้อมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการมองหาโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพที่เดินทางไปได้สะดวกในยามฉุกเฉินเอาไว้ด้วย
- มลภาวะทางอากาศและเสียง โดยดูว่าบริเวณใกล้เคียงของบ้านที่จะซื้ออยู่ใกล้กับสถานที่ที่จะปล่อยกลิ่นหรือเสียงที่ไม่พึงประสงค์ ที่อาจทำให้ความสุขของการอยู่อาศัยหมดไปได้หรือไม่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ทิ้งขยะ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เส้นทางขึ้นลงของเครื่องบิน เป็นต้น
- พื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วม โดยให้ตรวจดูให้ดูว่าบ้านที่จะซื้อในอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนหรือไม่ เนื่องจากน้ำท่วมบ้านจะสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างของตัวบ้าน และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงซ่อมแซมจำนวนมาก
นอกจากนี้ หากว่าคุณเลือกทำเลซื้อบ้านได้ดี โดยเฉพาะ การซื้อบ้านแถบชานเมือง ใกล้กับบริเวณที่กำลังมีการสร้างทางด่วน หรือกำลังมีการขยายของเส้นทางรถไฟฟ้า ที่จะสร้างแล้วเสร็จในอีกไม่ปีกี่ข้างหน้า ก็อาจจะทำให้บ้านที่คุณเลือกซื้อกลายเป็นบ้านในทำเลทองที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ด้วย
3. ราคาของบ้านที่อยู่ในงบประมาณ
ในการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน คุณจะพบว่าบ้านแต่ละประเภท แต่ละแบบ แต่ละทำเลที่ตั้ง ก็จะมีราคาบ้านที่สูง-ต่ำ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ความต้องการซื้อ-ขาย โปรโมชั่น มาตรการของรัฐ เป็นต้น
โดยหากว่าคุณอยากเลือกซื้อบ้านจากงบประมาณที่กำหนด เทคนิคที่จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนไม่หนักไปที่ค่าบ้านจนเกินไป คือ
- เช็กแผนการเก็บเงินของคุณมีพร้อมหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ต้องการมีเงินก้อนแรกสำหรับดาวน์บ้าน
- ดูว่ารายได้ที่เหมาะสมกับราคากู้ซื้อบ้านหรือไม่ เพราะจะช่วยให้คุณสามารถยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารผ่านได้ง่ายขึ้น
- เช็กค่าใช้จ่ายทั้งเดือน ทั้งที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันและการใช้หนี้ก้อนอื่นๆ ว่าเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือไม่
อยาก “กู้ซื้อบ้าน” ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
เมื่อคุณได้พบกับบ้านในฝันที่ต้องการเป็นเจ้าของแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการกู้ซื้อบ้านหรือขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งถ้าคุณสามารถเตรียมตัวได้ดี มีข้อมูลแน่น และเตรียมพร้อมเอกสารทุกอย่างที่ครบถ้วน ก็จะช่วยให้การขอกู้ซื้อบ้านกับธนาคารนั้นไม่มีปัญหา สะดวก และได้รับการอนุมัติที่รวดเร็ว
1. หาข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อบ้านให้ครบรอบด้าน
ก่อนตัดสินใจเลือกกู้บ้านกับธนาคารจะต้องศึกษาข้อมูลให้ครบรอบด้าน ตั้งแต่การเลือกธนาคาร การเลือกโครงการสินเชื่อ และการเลือกดอกเบี้ยที่เหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถเตรียมความพร้อมทางการเงินได้มากที่สุด
เลือกธนาคารที่ตอบโจทย์ในการกู้ซื้อบ้าน
หากคุณกำลังมีแผนกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกกู้บ้านธนาคารไหนดี ที่จะตอบโจทย์ในการกู้ซื้อบ้านที่จะทำให้ได้วงเงินสูง และดอกเบี้ยต่ำ สิ่งที่คุณต้องทำคือการหาข้อมูลสินเชื่อเพื่อบ้านของแต่ละธนาคารมาวางเปรียบเทียบกันโดยข้อมูลที่ต้องใช้ในการเปรียบเทียบกัน ได้แก่
- โครงการสินเชื่อบ้านที่ตอบโจทย์ของคุณ เช่น คู่รักที่กำลังร่วมกันสร้างความมั่นคงในชีวิต อยากจะซื้อบ้านร่วมกับแฟน ก็มองหาโครงการสินเชื่อสำหรับคู่รัก ซึ่งเป็นวิธีกู้ร่วมซื้อบ้านที่ช่วยให้การอนุมัติเป็นไปได้ง่ายขึ้น
- วงเงินสินเชื่อจากราคาประเมิน เพื่อดูว่าธนาคารจะปล่อยกู้ให้คุณได้เต็มวงเงิน หรือให้กี่ % ของวงเงินที่ต้องการกู้ เพื่อที่คุณจะได้วางแผนสำรองในการหาเงินส่วนที่เหลือสำหรับใช้ซื้อบ้าน
เข้าใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย
ในการผ่อนชำระเงินกู้บ้านกับธนาคารแต่ละเดือน จะมีการคิดดอกเบี้ยรวมไปด้วยในแต่ละเดือนตามอัตราที่กำหนดซึ่งการเลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการเลือกสินเชื่อบ้านที่เหมาะสมกับรายได้ของคุณ รวมถึงการกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยต่ำ จะช่วยให้คุณประหยัดเงิน และชำระหนี้หมดได้ไวขึ้นด้วยโดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านจะมีด้วยกัน 2 ประเภทคือ
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระ
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นหรือลงตามประกาศของธนาคารเป็นระยะ ซึ่งผู้กู้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่แตกต่างกันตามความสามารถในการชำระหนี้
ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ให้กับผู้กู้ในช่วง 1-3 ปีแรก (ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นและโครงการ) จากนั้นจะเริ่มคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว
2. เตรียมเอกสารยื่นกู้ให้พร้อม
การเตรียมเอกสารสำหรับยื่นกู้ให้พร้อมและครบถ้วน เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อเพื่อบ้านได้รับการอนุมัติเร็วขึ้น
โดยเอกสารประกอบการยื่นกู้ซื้อบ้าน จะมีอยู่ 3 หมวดหลักๆ คือ
- เอกสารส่วนตัวของผู้ยื่นกู้ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ, ทะเบียนบ้าน
- เอกสารแสดงรายได้ โดยจะแบ่งตามกลุ่มอาชีพ คือ
- ประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำ จะใช้หนังสือรับรองเงินเดือน, สลิบเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน, สำเนาเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
- ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นเจ้าของกิจการ จะใช้สำเนาเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน, หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมตัวจริง), หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
- เอกสารหลักประกัน ได้แก่ สำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย, สัญญาวางมัดจำ
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือให้ยินยอมตรวจสถานะประวัติค้างชำระหนี้ เพื่อทางธนาคารจะตรวจสอบและพิจารณาเครดิตของผู้กู้ได้อย่างละเอียด และในกรณีที่กู้ร่วมซื้อบ้าน ผู้กู้ร่วมจะต้องยื่นเอกสารส่วนตัวและเอกสารแสดงรายได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งหลังจากที่ยื่นเอกสารขอกู้ซื้อบ้านกับธนาคารแล้ว ธนาคารจะทำการพิจารณาดอกเบี้ยและวงเงินตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยถ้าผู้กู้มีภาระหนี้สินเก่าไม่เยอะ มีรายได้สม่ำเสมอและมีความมั่นคงทางการเงิน ผู้กู้ก็อาจจะได้รับการอนุมัติเงินวงกู้ซื้อบ้านที่สูง พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วย
3. วางแผนเก็บเงินสำหรับซื้อบ้าน
กู้ซื้อบ้านกับธนาคารแล้ว ทำไมต้องมีการวางแผนเก็บเงินสดสำหรับซื้อบ้านอีก?
นั่นเพราะว่าในการกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร หรือการขอสินเชื่อเพื่อบ้านกับธนาคารนั้น ธนาคารจะมีการกำหนดวงเงินกู้สินเชื่อบ้านตามความสามารถทางการเงินของผู้กู้ ซึ่งจะประเมินจากรายได้ต่อเดือน รวมกันหนี้สินของผู้กู้ด้วย
ทำให้โดยทั่วไปแล้วผู้กู้จะได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อบ้านประมาณ 80-95% ของราคาบ้าน หรือในบางกรณีผู้กู้ก็อาจจะได้สินเชื่อเต็มวงเงิน ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและเงื่อนไขสินเชื่อเพื่อบ้านของแต่ละธนาคาร
คำนวณวงเงินกู้ซื้อบ้านคร่าวๆ ได้อย่างไร?
เพื่อให้คุณสามารถเตรียมตัวก่อนเก็บเงินซื้อบ้านได้ตามเป้าหมาย ลองนำรายได้ของคุณมาคำนวณดูก่อนว่าจะได้รับวงเงินจากการกู้ซื้อบ้านอยู่ที่ประมาณเท่าใด
โดยทั่วไปแล้วธนาคารจะกำหนดอัตราผ่อนชำระไว้ที่ประมาณ 40% ของรายรับของผู้กู้ในแต่ละเดือน โดยจะคิดรวมกับหนี้สินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนด้วย
เช่น ผู้กู้มีรายรับอยู่ที่ 35,000 บาท/เดือน และมีหนี้สินต่อเดือนอยู่ที่ 5,000 บาท เท่ากับว่าจะมีความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนสูงสุดจะอยู่ที่ (35,000-5,000) – 40% = 12,000 บาท
จากนั้นนำความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนสูงสุด ไปคูณกับ 150 จะได้เป็นวงเงินกู้สูงสุดโดยประมาณของธนาคาร คือ 12,000 x 150 = 1,800,000 บาท นั่นเอง
ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านประมาณเท่าไร?
หากคุณได้คำนวณแล้วว่าวงเงินกู้ซื้อบ้านที่รับจากธนาคารนั้น ยังไม่เต็มจำนวนของราคาบ้าน คุณจึงจำเป็นต้องมีเงินสดประมาณ 5-20% ของราคาบ้านเอาไว้สำหรับดาวน์บ้าน เพื่อทำให้วงเงินกู้กับธนาคารลดลง